31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก

31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก

วันงดสูบบุหรี่โลก ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี โดยเริ่มมีการจัดงานตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 โดยองค์การอนามัยโลก องค์การอนามัยโลกประกาศประเด็นรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2565 “ยาสูบ : ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ด้วยการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น บุหรี่คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกสูงถึงกว่า 8 ล้านคนต่อปี เป็นอันตรายต่อสุขภาพและยังทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค และขยะหลังการบริโภค

ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมยาสูบและจากการสูบบุหรี่นั้น มหาศาลและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโลกที่มีทรัพยากรจำกัดและมีระบบนิเวศน์ที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเลิกบุหรี่เพื่อรักษาสุขภาพและโลกของเรา

31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก

สารเคมีในบุหรี่และโทษของสารแต่ละชนิด

  • นิโคติน เป็นสารเคมีในบุหรี่ที่ทำให้คนติดบุหรี่และมีผลต่อการกระตุ้นสมองกับกดประสาทส่วนกลาง หากถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะมีผลต่อต่อมหมวกไต ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดที่แขนขาหดตัว และเพิ่มไขมันในเส้นเลือด
  • อะซีโตน มีผลต่อระบบหายใจที่ทำให้มีอาการระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ รู้สึกเวียนศีรษะ เป็นพิษที่ปอดที่ทำให้เกิดพังผืด เซลล์ตับตาย และหากสะสมในสมองจะทำให้ระบบประสาทเสื่อม
  • แอมโมเนียม มีผลในการรบกวนการหลั่งสารสื่อประสาทและการสร้างพลังงานภายในเซลล์สมองต่าง ๆ เกิดอาการระคายเคืองแสบตาและจมูก
  • สารหนู ทำลายระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
  • บิวเทน เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ทำให้สายตาพร่ามัว ร่างกายเมื่อยล้า ปวดศีรษะ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
  • แคดเมียม มีผลต่อไตกับสมองที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • คาร์บอนมอนนอกไซด์ ทำลายเม็ดเลือดแดงไม่ให้จับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ ส่งผลให้ร่างกายเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้การตัดสินใจช้า มึนงง เหนื่อยง่าย และเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ
  • โครไลโนไทรล์ ทำให้เกิดโรคโลหิตจางอย่างอ่อน ปลายมือเท้าซีด เม็ดเลือดขาวลด ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองกับเยื่อบุตา จมูก และปอด
  • ไซยาไนด์ / ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะมากในตอนเช้า เนื่องจากไซยาไนด์เข้าไปทำลายเยื่อบุผิวหลอดลมตอนต้นนั่นเอง
  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำลายเยื่อบุหลอดลมตอนปลาย ทำให้เกิดผนังถุงลมโป่งพอง เมื่อถุงลมเล็ก ๆ แตกรวมกันเป็นถุงลมใหญ่จะส่งผลให้มีถุงลมน้อยลง และการยืดหยุ่นในการหายใจน้อยลงด้วยเช่นกัน
  • ฟอร์มาลดีไฮด์ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ทางเดินหายใจและเยื่อบุตา ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ อีกทั้งยังเป็นสารเคมีที่ใช้ในการดองศพ
  • ตะกั่ว มีผลต่อระบบประสาท เลือด ไต และระบบสืบพันธุ์ ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เป็นโรคความดันโลหิตสูง การได้ยินผิดปกติ ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยมักจะพบสารเคมีชนิดนี้ในโรงงานอุตสาหกรรม
  • เมทิล เอทิล คีโทน ทำให้จมูกกับตาระคายเคืองและกดระบบประสาท
  • ปรอท มีผลต่อสมองที่ทำให้ความจำเสื่อม ใจสั่น และเป็นสาเหตุการเกิดโรคไต
  • พอโลเนียม เป็นสารกัมมันตรังสีที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และยังเป็นพาหะร้ายแรงที่จะทำให้ผู้คนรอบข้างที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับสารพิษต่าง ๆ ในบุหรี่ไปด้วย
  • ทาร์ ก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่ปอด กล่องเสียง หลอดอาหาร หลอดลม ไต กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ
ผลข้างเคียงต่อบุคคลอื่น

ผลข้างเคียงต่อบุคคลอื่น

การสูบบุหรี่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้สูบเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใกล้ชิดอีกด้วย คือ

  • หากเด็กได้รับควันบุหรี่ จะป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูชั้นนอกอักเสบเพิ่มมากขึ้น
  • หากหญิงมีครรภ์ได้รับควันบุหรี่ จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยกว่าปกติ รวมทั้งมีโอกาสแท้ง และคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่อาจทำให้สมองช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติทางระบบประสาทและระบบความจำ
  • ขณะที่คู่สมรสของผู้สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปี เทียบกับคนทั่วไป
เลิกบุหรี่ ทำอย่างไรดีนะ?

เลิกบุหรี่ ทำอย่างไรดีนะ?

  • ปรับพฤติกรรม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยการสูบให้น้อยลงนั้น ในที่สุดจะกลับไปสูบมากขึ้นอย่างเดิม หรือสูบมากกว่าเดิมเสียอีก โดยในระยะแรก ๆ ที่เลิกสูบ มักจะเกิดอาการอยากบุหรี่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นอาการที่ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะเป็นการเสพติดมาจากพฤติกรรมการสูบเดิม ดังนั้นหากมีอาการอยากสูบบุหรี่ล่ะก็ แนะนำให้หาหมากฝรั่ง ลูกอม หรือดมยาดม เพื่อให้ติดเป็นนิสัยใหม่แทนการสูบบุหรี่ ใช้ หมากฝรั่งนิโคตินมาเคี้ยวจะดีมาก
  • หลีกเลี่ยงสถานที่หรือช่วงระยะเวลาที่เคยสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำ เพราะความเคยชินเหล่านั้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้หวนกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง ลองหาสถานที่ใหม่ ๆ หรือเดินออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ช่วยได้มากไม่น้อย
  • การดื่มน้ำเยอะๆ ก็เป็นตัวช่วยที่ดี เช่นกัน คนที่เลิกบุหรี่ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 10 แก้วหรือปริมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพราะน้ำจะเป็นตัวช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายและจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
  • การเลือกรับประทานอาหาร ผู้ที่เลิกบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท เผ็ด เค็ม มัน หวาน เพราะอาหารประเภทเหล่านี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้สูบอยากสูบบุหรี่เช่นกัน ในช่วงที่เลิกบุหรี่ควรรับประทานผักผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว ที่เป็นตัวช่วยที่ดีในการลดอาการอยากสูบบุหรี่ ผลไม้ควรเป็นผลไม้สดเท่านั้น
  • การนำมะนาวมาเป็นตัวช่วย แนะนำให้หันมะนาวทั้งเปลือกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่กล่องพกติดตัวไว้ เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาก็หยิบมะนาวขึ้นมาอมและขณะเวลาอมควรอมช้า ๆ และเคี้ยวเปลือกมะนาวแล้วกลืน การทำเช่นนี้จะช่วยได้เพราะรสขมของผิวมะนาวจะช่วยทำให้รู้สึกขมปากขมคอ จนไม่อยากสูบบุหรี่
  • การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 30 นาที เพราะยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ปอดก็จะยิ่งแข็งแรง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้ร่างกายขับพิษออกมากับเหงื่อได้อีกด้วย
  • การย้ำเตือนตนเอง หากคิดที่จะสูบบุหรี่ขึ้นเมื่อไหร่ ก็ขอให้ย้ำกับตนเองอยู่เสมอว่า ที่เลิกนั้นเพื่ออะไร และให้ทำตามเป้าหมายการเลิกบุหรี่ของตนเองตามที่ตั้งใจไว้ให้ดีที่สุด
ชีวิตดีดี..แค่เลิกบุหรี่ได้
ชีวิตดีดี..แค่เลิกบุหรี่ได้

อ้างอิง :

  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
  • มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
  • ashthailand.or.th

Related Articles